Aranya-Knife

เมื่อพูดถึงอาวุธที่มีชื่อเสียงของไทยต้อง ‘มีดอรัญญิก’ ที่ได้ชื่อว่าเป็นมีดที่คมที่สุด เป็นมีดของชาวเวียงจันทร์ที่มีความสวยงามอย่างมาก โดยเฉพาะส่วนฝักดาบที่มีการทำอย่างประณีตเป็นพิเศษ เทคนิคการตีดาบได้ส่งต่อกันเรื่อยมา หลังจากที่ชาวเวียงจันทร์โดนโจรผู้ร้ายเข้าปล้นอยู่บ่อยครั้ง จึงได้อพยพเข้ามาอยู่ภายใต้ร่มเงาของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในสมัยก่อนเชื่อกันว่าใช้เป็นอาวุธที่แสดงถึงตำแหน่งของผู้พกพา ว่าเป็นบุคคลที่มีความสำคัญ หรือมีฐานะ เช่นเดียวกับการเป็นเครื่องประดับที่สวยงาม

จุดเด่นของมีดอรัญญิกคือเป็นมีดที่คมนาน สามารถใช้งานได้เป็นปีโดยไม่ต้องลับคม บางคนเชื่อว่ามันใช้งานได้ตลอดอายุขัยของผู้ใช้ ความทนทานเหล่านี้ได้มาจากเหล็กชั้นดี ทำให้มีดมีความแข็ง ไม่แตก ไม่บิ่น เมื่อกระทบหรือฟาดฟันกับสิ่งใด ด้ามมีดนิยมใช้เป็นแบบไม้แกะสลัก บางครั้งก็มีการเอามุกมาฝังให้ดูสวยงาม มีดอรัญญิกของแท้จะต้องมีตราประทับบนตัวมีด ซึ่งในสมัยนี้มีการทำด้วยเครื่องจักร ซึ่งสามารถทำมีดให้ออกมาดูสวยงามมากว่าเดิม แต่ที่นิยมยังคงเป็นการตีมีดด้วยมืออยู่ แม้ว่าจะต้องอาศัยแรงงานคนมากในการทำมีดขึ้นมาแต่ละเล่ม โดยช่างตีจะต้องเป็นคนที่มีประสบการณ์สูง รู้ว่าจะตีอย่างไร ตรงไหน เมื่อไหร่ พร้อมกับอาศัยฟังเสียงสัญญาณของคนจับเหล็ก

Aranya-Knife-

ขั้นตอนการทำมีดอรัญญิก

ในตำบลท่าช้างชาวบ้านจะสร้างบ้านเรือนที่มีใต้ถุนสูง เพื่อป้องกันน้ำท่วมจากระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นของแม่น้ำที่อยู่ใกล้เคียง นอกจากนี้ยังใช้ใต้ถุนบ้านเป็นสถานที่ในการทำมีดดาบอรัญญิก ยกเว้นเตาเผาเหล็กที่จะแยกออกจากตัวเรือน เพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัย เนื่องจากต้องใช้อุณภูมิไฟที่สูงมากในการตีเหล็ก และบ้านส่วนใหญ่ทำจากไม้ที่ติดไฟง่าย ในขั้นตอนการทำมีดอันดับแรกคือการ เตรียมมีด ซึ่งต้องใช้คนประมาณ 3 คน โดยจะต้องเป็นคนที่มีร่างกายกำยำ มีกำลังที่แข็งแรง เพราะในการตีเหล็กต้องอาศัยแรงเป็นหลัก สิ่งที่ขาดไปไม่ได้คือวัตถุดิบสำคัญคือ ‘เหล็กกล้า’ ที่ต้องอาศัยความชำนาญในการเลือกของช่างตีดาบ กับถ่านที่ได้จากไม้ไผ่ที่ให้อุณภูมิร้อนอย่างสม่ำเสมอเหมาะสำหรับใช้ในเตาเผาเหล็ก ต่างจากถ่านธรรมดาที่ให้ความร้อนได้ไม่สม่ำเสมอ แถมยังใช้ได้ไม่นานอีกด้วย

อันดับแรกช่างจะตัดเหล็กให้ได้ขนาดตามต้องการ แล้วจึงนำไปเผาไฟด้วยอุณภูมิที่สูงมากจนแดง ก่อนที่จะนำออกมาตีให้ได้รูปตามที่ต้องการ หลังจากที่ได้กูนมีดแล้วจะนำเข้าไปเผาอีกรอบ ก่อนจะนำมาตีซ้ำอีกครั้งหนึ่ง เมื่อซ้ำแล้วจะนำมีดออกมาทิ้งไว้ให้เย็นตัว ก่อนจะใช้ค้อนทุบให้เกิดความเรียบตรง ขั้นตอนถัดไปจะนำตะไบมาแต่งให้มีรูปสวยงาม ตามด้วยนำไปขูดให้เกิดคมที่บาง เมื่อได้คมที่บางจนพอใจ จะนำมาทำพานคมมีด คือการใช้ตะไบขวางคมมีดให้บาดเฉียบ ก่อนจะนำเหล็กไปผ่านขั้นตอนการชุบ ช่างจะนำเหล็กไปเผาไฟแล้วนำไปชุบกับน้ำ ทำให้คมของมีดมีความแข็งแรงขึ้น โดยจะต้องอาศัยประสบการณ์ความชำนาญอย่างมาก เพราะถ้าทำไม่ถูกวิธีจะทำให้มีดแตกได้ สุดท้ายคือการนำมาลับคมแล้วจึงนำไปใส่ด้ามมีดที่เตรียมเอาไว้ พร้อมกับทาน้ำมันป้องกันสนิม เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนการทำมีด จะเห็นได้ว่ากว่าจะได้มีดแต่ละเล่ม ต้องอาศัยแรงงานช่างฝีมือ และขั้นตอนในการทำมากมาย มีดอรัญญิกจึงเป็นของล้ำค่าที่คู่ควรแก่การอนุรักษ์อย่างมากของไทย สำหรับใครที่สนใจอยากเห็นการดูมีดแบบสดๆ สามารถไปดูได้ตำบลท่าช้าง ซึ่งจะมีชาวบ้านที่ยังคงรักษาธรรมเนียมในการตีมีดเล่มนี้อยู่

green-ink This entry was posted in. News ประวัติ มีดอรัญญิกที่คมที่สุด ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา.